Tag Archives: ชาผูเอ่อร์

ชาซิ่นหยางเหมาเจียน

สิบสุดยอดชาจีนอันเลื่องชื่อ : ชาซิ่นหยางเหมาเจียน ชาซิ่นหยางเหมาเจียน มีแหล่งผลิตอยู่ที่เมืองซิ่นหยาง เขตภูเขาต้าเปี๋ย มณฑลเหอหนาน ชาซิ่นหยางเหมาเจียนมีคุณภาพสูง ลักษณะเป็นชาเส้นเล็กละเอียดตรงสม่ำเสมอ สีเขียวมรกตเป็นมันวาว มีขนอ่อนสีขาวแซมอยู่โดยทั่ว น้ำชาที่ได้จะมีสีเขียวนวลสดใส กลิ่นหอมสดชื่นละมุนละไม จนได้รับขนานนามว่าเป็นชาที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวคือ “เส้นเล็กละเอียด สมบูรณ์ มันวาว เป็นเส้นตรง ขนอ่อนมาก หอมจัด รสเข้ม น้ำชาเป็นสีเขียว” และยังเป็นที่รู้จักกันดีทั้งในประเทศจีนและต่างประเทศ โดยได้รับรางวัลเหรียญทองจากงานนิทรรศการมหกรรมสินค้านานาชาติปานามา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2458  

ชาลิ่วอันกวาเพี่ยน

สิบสุดยอดชาจีนอันเลื่องชื่อ : ชาลิ่วอันกวาเพี่ยน ชา “ลิ่วอันกวาเพี่ยน” เป็นชาที่มีชื่อเสียงมาแต่โบราณ เป็นหนึ่งในสิบสุดยอดชาจีนอันเลื่องชื่อ และเป็นชาเขียวชนิดพิเศษที่มีชื่อเสียงระดับโลก ชาลิ่วอันกวาเพี่ยนเจริญเติบโตในบริเวณที่มีเขาสูงล้อมรอบ ปกคลุมด้วยเมฆหมอก ภูเขาเขียวชอุ่มน้ำใส มีต้นไผ่ขึ้นสูงรกครึ้ม ใบชาลิ่วอันกวาเพี่ยนมีลักษณะโค้งมนเหมือนเมล็ดแตงโม สีเขียวอร่ามเป็นมันวาวดุจอัญมณี สีน้ำชาเขียวอมเหลืองและใสสะอาด มีกลิ่นหอมโชยติดจมูกอย่างที่ไม่มีใครเหมือน น้ำชารสชาติบริสุทธิ์หวานติดลิ้น กลิ่นหอมหวลชื่นใจ อีกทั้งยังมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ คล้ายลูกเกาลัดสุก ชาลิ่วอันกวาเพี่ยนเป็นชาที่มีคุณค่าทางสารอาหารสูงที่สุดในบรรดาชาเขียวทั้งหมด เพราะว่าใบชาเป็นแผ่นแบน ต้องใช้เวลาในการเจริญเติบโตนาน การสังเคราะห์แสงของใบชาที่ยาวนาน ทำให้ใบชาเก็บสะสมสารอาหารไว้มาก ในขณะเดียวกันยังมีสรรพคุณช่วยย่อยอาหารและขจัดความอ่อนล้าด้วย

ชาจวินซานหยินเจินเป็นหนึ่งในสิบสุดยอดชาจีน

สิบสุดยอดชาจีนอันเลื่องชื่อ : จวินซานหยินเจิน ชาจวินซานหยินเจินเป็นหนึ่งในสิบสุดยอดชาจีนอันเลื่องชื่อ มีแหล่งผลิตอยู่บนเกาะ จวินซาน ในทะเลสาบต้งถิง มณฑลหูหนาน จัดอยู่ในตระกูลชาเหลืองที่ใบชามีรูปร่างเหมือนเข็ม ได้รับสมญานามว่า “หยกเลี่ยมทอง” ชาจวินซานนั้น แรกเริ่มถูกจัดให้เป็นเครื่องบรรณาการในสมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ชิง ด้วยเหตุที่ว่ายอดอ่อนของใบชาเป็นเส้นตรง เต็มไปด้วยขนอ่อนสีขาว ทำให้ดูมีลักษณะเหมือนเข็มเงิน(หยินเจิน) จึงได้เรียกชานี้ว่า “ชาจวินซานหยินเจิน” (ชาเข็มเงินแห่งเมืองจวินซาน) เมืองจวินซานนั้นมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าต้งถิงซาน ผืนดินบนเกาะอุดมไปด้วยสารอาหาร โดยส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นดินปนทราย ภูมิอากาศมีความชุ่มชื้นสูง เป็นระบบนิเวศน์ที่เหมาะแก่การปลูกต้นชาเป็นอย่างยิ่ง ชาจวินซานหยินเจินจะเริ่มเก็บได้ก่อนวันเทศกาลเชงเม้งประมาณ 3 – 4 วัน เป็นการผลิตชาฤดูใบไม้ผลิจากชายอดอ่อนชุดแรก โดยกรรมวิธีที่พิถีพิถัน ลักษณะของใบชาจะเป็นเส้นตรง เต็มไปด้วยขนสีขาวดุจขนนก ก้านอ่อนมีสีเหลืองทองเป็นประกาย เมื่อชงชา ยอดอ่อนจะลอยตั้งเป็นแนวดิ่งอยู่ในน้ำ ค่อย ๆ จมลงไปแล้วลอยขึ้นมาใหม่อย่างช้า ๆ ประเดี๋ยวจมประเดี๋ยวลอย เป็นภาพที่น่ามองยิ่งนัก อีกทั้งสีของน้ำชาก็ใสสะอาด รสชาติหวานล้ำลึก เก็บไว้ได้นานโดยไม่เสียรสชาติ

วัฒนธรรมการดื่มชา

วัฒนธรรมการดื่มชาหมายรวมถึงการชงชา การชมชา การดมชา การดื่มชา และการชิมชา โดยผ่านการพัฒนาและปรับปรุงกันมาอย่างไม่หยุดยั้ง กระทั่งเกิดเป็นความเคยชินชนิดหนึ่ง ความเคยชินชนิดนี้ได้ค่อยๆก่อตัวขึ้นจนกลายเป็นหนึ่งในปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมของจีน วัฒนธรรมการดื่มชานั้นมีชาเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ เป็นการหลอมรวมกันระหว่างชากับวัฒนธรรม ในขณะเดียวกัน วัฒนธรรมการดื่มชาก็ยังเป็นการผนวกศิลปะการชงชาเข้ากับจิตใจ อีกทั้งยังสามารถแสดงถึงความรู้สึกทางจิตวิญญาณผ่านศิลปะการชงชาได้ พิธีชงชาจึงประหนึ่งเป็นการหลอมรวมที่เข้ากันได้อย่างงดงามระหว่างศิลปะการชงชากับจิตใจ เราสามารถแสดงออกถึงมารยาท อุปนิสัยใจคอ ท่วงทำนองความคิด มุมมองทางสุนทรียศาสตร์ และมโนคติผ่านวิถีการชิมชาได้ พิธีการชงชาของจีน ให้ความสำคัญและพิถีพิถันกับความงดงามทั้ง 5 อย่างอันได้แก่ ใบชา น้ำชา ความแรงของไฟ เครื่องมือชงชา และสภาพแวดล้อม รูปแบบเฉพาะที่แสดงให้เห็นถึงพิธีชงชาของจีนมีอยู่ 3 อย่าง คือ 1. การชงชา: การนำผงชาใส่ลงไปในกาชาแล้วต้มด้วยน้ำร้อน การชงชาในสมัยราชวงศ์ถังเป็นศิลปะการชงชาที่มีรูปแบบที่ละเอียดลออและเก่าแก่ที่สุด 2.การประลองชา:ปัญญาชนในสมัยโบราณนิยมนำชาและน้ำติดตัวมาเอง การประลองชาเป็นศิลปะการชิมชาอย่างหนึ่งที่แข่งขันกันด้วยลักษณะของใบชา สีของน้ำชาและรสชาติของน้ำชาเพื่อตัดสินว่าชานั้นดีหรือเลว การประลองชายังเรียกกันอีกอย่างว่าสงครามชา เริ่มมีขึ้นในสมัยปลายราชวงศ์ถัง และรุ่งเรืองที่สุดในสมัยราชวงศ์ซ่ง เริ่มแรกเป็นที่นิยมมากในแถบเจี้ยนโจวมณฑลฝูเจี้ยน การประลองชาถือได้ว่าเป็นรูปแบบที่แสดงให้เห็นถึงศิลปะการชิมชาขั้นสูงสุด 3.ชากังฟู:วิธีการชิมและชงชาแบบโบราณหรือที่เรียกว่าชากังฟูอันเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในสมัยราชวงศ์ชิงจนถึงปัจจุบันในบางพื้นที่นั้น เป็นศิลปะการชงชาที่ยังคงหลงเหลือมาจากสมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง ในสมัยราชวงศ์ชิง ชากังฟูเป็นที่นิยมแพร่หลายในเมืองทิงโจว จางโจว ฉวนโจวของมณฑลฝูเจี้ยน และเมืองเฉาโจว (แต้จิ๋ว) ของมณฑลกวางตุ้ง ชากังฟูเน้นวิธีการชงและชิมชาที่ประณีตพิถีพิถัน