วัฒนธรรมการดื่มชาของคนจีน

หากถามว่าเครื่องดื่มชนิดใดมีผู้นิยมดื่มมากที่สุดในปัจจุบัน หลายคนอาจจะตอบว่า คงเป็นกาแฟ เพราะว่าปัจจุบันนี้ ทั้งชาวตะวันตกและชาวตะวันออกล้วนชอบดื่มกาแฟแบบติดกันเลิกไม่ได้ ถ้าวัดจากน้ำหนักของกาแฟที่ถูกบริโภค กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่มีการบริโภคมากที่สุด แต่ถ้าวัดจากจำนวนคน กาแฟยังมีจำนวนน้อยกว่า เนื่องจากมีเครื่องดื่มที่มีผู้ดื่มมากที่สุดประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรโลก เลยทีเดียว เครื่องดื่มนั้น คือ ชา นั่นเอง

คำว่า ชา ภาษาจีนกลางจะออกเสียงว่า ฉา ซึ่งไม่แตกต่างจากภาษาไทยมากนัก จีนเป็นชนชาติแรกที่รู้จักการดื่มชา ผลิตชาและทำไร่ชามานานกว่า2,000 ปีแล้ว มีตำนานมากมายเล่าถึงการกำเนิดของชาและประเพณีการดื่มชา ซึ่งมีเรื่องหนึ่งเล่ากันว่า นานมาแล้วในเมืองจีนเกิดการระบาดของอหิวาตกโรค ผู้คนล้มตายกันมาก มีหมอจีนคนหนึ่งสังเกตเห็นว่า สาเหตุของโรคระบาดมาจากน้ำสกปรกที่ชาวบ้านใช้ดื่มกิน จึงพยายามหาวิธีที่จะให้ชาวบ้านหันมาดื่มน้ำต้มสุกแทนน้ำดิบ โดยทดลองนำใบไม้หลายชนิดมาต้มน้ำร้อน เพื่อให้มีกลิ่นหอมและรสดีชวนดื่ม เมื่อชาวบ้านดื่มน้ำชากันมากขึ้น โรคห่าก็ค่อยๆ หมดไปในที่สุด ตั้งแต่นั้นมาชาวจีนก็นิยมดื่มน้ำชามาจนปัจจุบัน

ตำนานที่เล่าถึงประวัติการดื่มชาในจีนมีมากหมาย ย้อนไปถึงเมื่อ 2000 ปีก่อน ในสมัยราชวงศ์ฮั่น มีอยู่วันหนึ่ง จักรพรรดิฮั่นอู่ดี้เสด็จล่าสัตว์ ขณะทรงพักผ่อนใต้ร่มไม้ และทรงต้มน้ำดื่มหน้ากองไฟ มีกระแสลมพัดพาเอาใบไม้หล่นลงในหม้อน้ำที่กำลังต้ม เมื่อจักรพรรดิทรงชิมน้ำที่ต้ม พบว่ามีรสชาติดีและมีกลิ่นหอมจากใบไม้ชนิดนั้น ซึ่งก็เป็นใบชาปัจจุบัน จากนั้นมา ชาก็กำเนิดขึ้นเป็นที่รู้จักและนิยมดื่มกันไปตราบจนถึงปัจจุบัน

หนังสือโบราณเกี่ยวกับใบชาที่มีชื่อเสียงดังที่สุดชื่อว่า “ฉาจิง”แปลว่า ตำราของชา นับเป็นหนังสือเล่มแรกของโลกที่บันทึกถึงประวัติศาสตร์การกำเนิดชา การผลิตชา ประเภทของชา ประเพณีการดื่มชาเป็นต้น ผู้เขียนชื่อ “ลู่หยู่” ผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการผลิตชาและประเพณีการดื่มชามากมาย เป็นคนสมัยราชวงศ์ถัง ห่างจากปัจจุบัน กว่า 1,500 ปีแล้ว

คุณลู่หยู่ตั้งแต่เด็กก็เรียนรู้จากพระจีนผู้สูงอายุหลายปี จนมีฝีมือชงชายอดเยี่ยมและตั้งแต่อายุ 24 ปี ก็เริ่มไปสำรวจที่พื้นที่ต่างๆ ในเขตปลูกชา เพื่อรวบรวมข้อมูลเอกสารและลงมือเขียน กว่าจะเขียนตำราฉาจิงออกมาได้ ลู่หยู่ก็อายุ 51 ปีแล้ว โดยใช้เวลานานถึง 27 ปี คนรุ่นหลังจึงยกย่องเขาเป็นปราชญ์เมธีทางชา