ไขมันในเลือดสูง

สิ่งที่ควรทราบและแนวทางป้องกันแก้ไข
ไขมันในเลือดสูงหรือโคเลสเตอรอลในเลือดสูง มีความหมายเหมือนกัน โรคนี้มักจะไม่มีอาการหรืออาการแสดงให้เห็น จากการศึกษาพบและยืนยันว่า ภาวะโคเลสเตอรอลในเลือดสูงนี้ เป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดแดงแข็งและตีบและต่อมาจะทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด (เจ็บแน่นที่อกกล้ามเนื้อหัวใจตาย เสียชีวิตอย่างฉับพลัน) หรือเกิดโรคสมองขาดเลือด(อัมพาต อัมพฤกษ์)

โคเลสเตอรอลในเลือด เป็นไขมันชนิดหนึ่งในร่างกายได้มาจาก การเผาผลาญอาหารที่รับประทานมากเกินไป หรืออาหารพวกไขมัน อีกส่วนหนึ่งได้มาจากร่างกายสังเคราะห์ขึ้นมาใช้เอง และยังเหลือเก็บสะสมเป็นพลังงานสำรองไว้ใช้ในโอกาสต่อไป

1. โคเลสเตอรอล ชนิดให้โทษ เรียก แอลดีแอล LDL ถ้ามีระดับสูงมากในเลือด จะนำโคเลสเตอรอลไปจับสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย ทำให้หลอดเลือดแดงแข็งและตีบแคบ ภาวะนี้จะไม่มีอาการรบกวนใด ๆ ทั้งสิ้น จะดำเนินอยู่นานเป็นสิบปีจนกระทั่งหลอดเลือดแดงตีบและอุดตัน จึงจะเกิดอาการต่าง ๆ ดังกล่าว

2. โคเลสเตอรอล ชนิดให้คุณประโยชน์ เรียน เฮชดีแอล HDL ทำหน้าที่จับสารโคเลสเตอรอลตามผนังหลอดเลือดเอาไปทำลายที่ตับ จากการศึกาษวิจัยพบว่าบุคคลที่มีระดับ เฮชดีแอลในเลือดสูงมักจะมีอายุยืนยาวกว่าผู้ที่มีระดับ เฮชดีแอลในเลือดต่ำ ปัจจุบันเชื่อว่า “เฮชดีแอลช่วยป้องกันการเกิดหลอดเลือดแดงแข็งและตีบแคบ”

ไขมันในเลือดผิดปกติ
คือภาวะที่มีโคเลสเตอรอลชนิดให้โทษแอลดีแอลสูงและมีโคเลสเตอรอลชนิดให้คุณในเลือดต่ำ (เฮชดีแอล) ความผิดปกตินี้จะนำไปสู่ การเกิดหลอดเลือดแดงแข็งตีบแคบโดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจและสมอง จึงทำให้มีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือด สมองขาดเลือด จนเป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม ฯลฯ ภาวะไขมันในเลือดผิดปกตินี้ จะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีอาการอะไร จนกระทั่งถึงจุดสุดท้ายที่ทำให้เกิดอาการของโรคต่าง ๆ ที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง

ภาวะที่ไม่มีอาการมักจะเกิดร่วมกับลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
คนอ้วนรับประทานอาหารไขมันมาก ไม่ค่อยออกกำลัง
อายุที่สูงมากขึ้น มักออกกำลังกายน้อยลง
การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้าเป็นประจำ ทำให้เกิดการสะสมไตรกลีเซอไรด์
พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
กรรมพันธุ์
โรคบางอย่าง เบาหวาน โรคไต โรคตับ ต่อมไทรอยด์
การใช้ยาบางชนิด เช่นใช้ยาคุมกำเนิดเป็นประจำระดับโคเลสเตอรอลทั้งหมดในเลือดปกติไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัม/เลือด 100 ซี ซี

เมื่อสงสัยว่าตัวท่านเองจะเข้าข่ายดังกล่าว ก็ควรไปขอรับการตรวจเลือด ก่อนตรวจเลือด ควรงดอาหารทุกชนิดนาน 12 ชั่วโมง ก่อนเจาะเลือด

สิ่งที่ควรปฏิบัติ

ควบคุมอาหาร และจำกัดการรับประทานอาหารไขมันควรลดความอ้วน ลดปริมาณอาหารที่มีสารโคเลสเตอรอลหลีกเลี่ยงอาหารพวกเครื่องในสัตว์ สมองสัตว์ ตับวัว ตับหมู หนังเป็ดหนังไก่ ไข่แดง ไข่นกกระทา หอยแครง หอยแมลงภู่ หอยนางรม ปลาหมึก ไข่ปลา ฯลฯ
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นการเพิ่มการเผาผลาญอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งโคเลสเตอรอลและยังช่วยเพิ่มระดับ เฮชดีแอลในเลือด ซึ่งเป็นตัวป้องกันการเกิดหลอดเลือดแดงแข็ง
งดสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่จะทำให้เกิดมะเร็งในปอด เกิดการอักเสบของหลอดลม หลอดลมอุดตันเรื้อรังได้ และพบว่าบุหรี่ทำให้เฮชดีแอลในเลือดต่ำลง ซึ่งเป็นผลเสียและบุหรี่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดที่สำคัญอีกด้วย
ปรึกษาแพทย์ ติดตามดูผลการปฏิบัติดังกล่าว เพื่อลดระดับโคเลสเตอรอล ซึ่งบางรายอาจต้องใช้ยาช่วยปรับระดับไขมัน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ชี้แนะและติดตามผลการรักษาต่อไป