สำนักข่าวซินหัว-เขตฯ กว่างซีจ้วง ได้รับรายงานเทศบาลเมืองอู๋โจว (Wu Zhou City, 梧州市) ว่า สำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งชาติจีน (The General Administration for Quality Supervision, Inspection and Quarantine: AQSIQ, 国家质检总局) ได้ดำเนินการตรวจสอบและอนุมัติการจดทะเบียน “ชาลิ่วป่าว” เป็นผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ท้องถิ่น
“ชาลิ่วป่าว” (Liu Bao Tea, 六堡茶) ถือเป็น 1 ใน 24 ชาที่มีชื่อเสียงของประเทศจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง ชาลิ่วป่าวได้รับการตั้งชื่อตามถิ่นกำเนิดในหมู่บ้านลิ่วป่าว (Liu Bao Village, 六堡乡) อำเภอชางอู่ (Cang Wu County, 苍梧县) เมืองอู๋โจว (Wu Zhou City, 梧州市) เขตฯ กว่างซีจ้วง นับถึงปัจจุบัน ชาฯ ดังกล่าวมีประวัติการผลิตยาวนานกว่า 1,000 ปีมาแล้ว
ตามที่ได้รับรายงาน เทศบาลเมืองอู๋โจวมอบอำนาจให้กับสำนักงานการเกษตร (Bureau of Agriculture, 农业局) ดำเนินการยื่นขอความคุ้มครอง “ชาลิ่วป่าว” เป็นผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ท้องถิ่นต่อสำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งชาติจีน (The General Administration for Quality Supervision, Inspection and Quarantine: AQSIQ, 国家质检总局) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2549
ภายหลังสำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งชาติจีน (AQSIQ) ดำเนินการพิจารณาตรวจสอบจากประวัติต้นกำเนิด คุณภาพ คุณลักษณะจำเพาะ เทคนิคการผลิตชาฯ ดังกล่าวกับตำแหน่งที่ตั้ง ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะภูมิอากาศ คุณภาพน้ำ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องของเมืองอู๋โจว พบว่า “ชาลิ่วป่าว” มีคุณสมบัติสอดคล้องตาม “ข้อกำหนดว่าด้วยการบริหารจัดการคุ้มครองผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ท้องถิ่น” จึงอนุมัติให้ “ชาลิ่วป่าว” ได้รับความคุ้มครองฯ ดังกล่าว
ปัจจุบัน เมืองอู๋โจว มีพื้นที่ปลูก “ชาลิ่วป่าว” ประมาณ 50,000 หมู่จีน (ประมาณ 20,834 ไร่) วิสาหกิจผู้ผลิต “ชาลิ่วป่าว” จำนวน 24 ราย ผู้ประกอบอาชีพในธุรกิจดังกล่าวมากกว่า 3,000 คน จากข้อมูลสถิติปี 2552 พบว่า เมืองอู๋โจวมีปริมาณการผลิต “ชาลิ่วป่าว” มากกว่า 7,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าการผลิตมากกว่า 700 ล้านหยวน โดยผลิตภัณฑ์“ชาลิ่วป่าว” ได้ถูกส่งกระจายไปจำหน่ายยังเมืองและมณฑลต่าง ๆ ทั่วประเทศจีน ฮ่องกง มาเก๊า กลุ่มประเทศอาเซียน ญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา
แหล่งข้อมูล : เว็บไซต์ http://www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) (29 ตุลาคม 2553)
เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง / ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง